เลือกกระจกสร้างบ้านให้เหมาะกับการใช้งาน

ต่อเนื่องจากบทความโลกของกระจกกับการออกแบบอาคาร เมื่อครั้งที่แล้ว ที่เราไปรู้จักตัวละครสำคัญๆ ในแวดวงกระจกกันแล้ว ว่าใครเป็นใคร ทำหน้าที่อะไรกันบ้าง (ทำความรู้จักตัวละครในวงการกระจก คลิกตรงนี้เลยจ้า ใครเป็นใครในวงการกระจก: โลกของกระจกกับการออกแบบอาคาร )

วันนี้เราจะมาทำความรู้จักกระจกแต่ละชนิด ชื่อแต่ละชื่อที่เขาเรียกกัน หมายถึงอะไร และกระจกแต่ละชนิดเหมาะกับงานออกแบบอาคารแบบไหนกันบ้าง

จุดประสงค์ที่เราเขียนเรื่องนี้ขึ้นมาก็เพราะในบ้านเราคนที่มีความรู้ ความเข้าใจในการเลือกใช้กระจกในงานออกแบบอาคารยังมีอยู่ในวงจำกัด ที่รู้ก็รู้กันอยู่ไม่กีคน ที่รู้บ้าง ไม่รู้บ้างก็มีไม่น้อย ที่ไม่รู้เลยก็ยิ่งเยอะ (โดยเฉพาะเจ้าของบ้าน) และถึงจะถูกเหมาเอาว่าการเลือกกระจกมาใช้ในการออกแบบอาคารเป็นเรื่องของสถาปนิกผู้ออกแบบอาคารหรือผู้รับเหมาก็ตาม ในฐานะเจ้าของบ้าน เจ้าของโครงการ เราก็ควรจะทราบหรือพอมีความรู้เกี่ยวกับกระจกพวกนี้เอาไว้บ้าง เอาไว้พิจารณาประกอบการตัดสินใจในการเลือกใช้กระจกให้เหมาะสมกับการใช้งาน
กระจกที่ใช้ในงานออกอาคารจะแบ่งได้ 3 กลุ่มหลักๆ
1. กระจกวัตถุดิบ (annealed glass) คือ กระจกเกิดขึ้นจากการแปรรูปเม็ดทรายกลายมาเป็นกระจกเป็นแผ่นๆ จากโรงงานผลิตกระจก ส่วนใหญ่จะมีเนื้อใสอมเขียวนิดๆ ถ้าต้องการกระจกสีๆ ก็สามารถสั่งผลิตได้ในขั้นตอนนี้เลย

credit https://www.johnsonwindowfilms.com/dealer/printPage.php?ARTICLE_ID=172

2. กระจกที่ผ่านกระบวนการเพิ่มเติมเช่นนำมาอบความร้อนเพิ่ม หรือนำมาโค๊ตติ้งเพิ่ม(เคลือบผิวกระจก) ซึ่งจะทำโดย fabricators (อ่าน ใครเป็นใครในวงการกระจก: โลกของกระจกกับการออกแบบอาคาร ) เพื่อวัตถุประสงค์ต่างๆ เช่น ทำให้กระจกแข็งแรงขึ้น ทำให้กระจกดัดโค้งได้ หรือเคลือบผิวหน้าเพื่อให้กระจกสะท้อนความร้อน พิมพ์ลวดลายบนผิวกระจก กระจกที่อยู่ในกลุ่มนี้ก็มีอยู่หลายชนิด เช่น กระจกเทมเปอร์กลาส (Tempered Glass) กระจกฮีตสเตร็งเทนหรือกระจกที่ทำให้แข็งแรงขึ้นด้วยความร้อน (Heat Strengthened) กระจก Low-E (Low Emissivity) หรือกระจกที่มีโค๊ตติ้งพิเศษให้สะท้อนแสงได้ กระจกดัดโค้ง กระจกเคลือบผิว (Coating Glass) กระจกพิมพ์ลาย (Fritted glass) กระจกพ่นทราย กระจกกัดกรด ฯลฯ

3. กระจกที่นำมาประกอบรวมกันตั้งแต่ 2 แผ่นขึ้นไป เพื่อประสิทธิภาพด้านการป้องกันความร้อนหรือความปลอดภัย เช่น กระจกลามิเนต กระจกฉนวน (Insulated Glass Unit- IGU)

คุณสมบัติของกระจกที่ใช้ในงานสถาปัตยกรรม

ข้อเสียอย่างหนึ่งของกระจกคือแตกได้และเมื่อแตกแล้วอาจก่อให้เกิดอันตรายกับผู้พักอาศัย กระจกส่วนใหญ่จึงมีคุณสมบัติหลักๆ คือต้องมีความแข็งแรงไม่แตกง่าย และต้องมีความปลอดภัย คือเมื่อแตกแล้วไม่ก่อให้เกิดอันตราย

ความแข็งแรง การทนแรงกระแทก
ถ้าเป็นผนังบ้านเป็นกระจกทั้งผนัง ประตูกระจกหรือหน้าต่างที่เป็นกระจกทั้งบาน หรือพวกท็อปโต๊ะทานอาหาร โต๊ะทำงาน โต๊ะประชุมที่เป็นกระจก หรือฉากกั้นอาบน้ำ กระจกที่ใช้กับงานประเภทนี้ ต้องทนมือทนแรงกระแทกได้เป็นพิเศษ เพราะว่ากระจกพวกนี้จะโดนสัมผัส จับต้องอยู่บ่อยๆ กระจกที่เหมาะสมกับการใช้งานก็คือ กระจกเทมเปอร์ กับกระจกฮีตสเตร็งเทน เนื่องจากกระจกทั้งสองตัวนี้ ได้จากกระจกที่ถูกนำมาอบความร้อนซ้ำจนได้เนื้อกระจกที่แข็งแรง ทนแรงกระแทกได้สูง ส่วนใหญ่แล้วเราจะคุ้นกับกระจกเทมเปอร์มากที่สุด ส่วนกระจกฮีสเตร็งเทนก็มีการใช้งานอยู่บ้างแต่ไม่หลากหลายเท่ากับกระจกเทมเปอร์

– กระจกเทมเปอร์ แข็งแรงกว่ากระจกธรรมดา (กระจกวัตถุดิบ) ประมาณ 3-4เท่า

– กระจกฮีตสเตร็งเทน แข็งแรงน้อยกว่ากระจกเทมเปอร์ แต่แข็งแรงกว่ากระจกธรรมดา2เท่าตัว

กระจกเทมเปอร์ ถ้าไม่ผ่านการลามิเนตฟิล์ม เวลาแตก กระจกจะแตกเป็นเม็ดข้าวโพด และร่วงลงมาทันที และที่หลายคนเข้าใจว่ากระจกเทมเปอร์แตกแล้วไม่คมนั้น อาจจะไม่เสมอไป เพราะยังไงก็ยังมีความคมอยู่บ้าง ส่วนกระจกฮีสเตร็งเทน ถ้าไม่มีการลามิเนตฟิล์มไว้ เวลาแตกกระจกจะแตกเป็นปากฉลามเหมือนกระจกทั่วไป แต่กระจกจะไม่ร่วงลงมาทันทีเหมือนกระจกเทมเปอร์ ตัวกระจกจะยึดเกาะกันเองอยู่ชั่วระยะหนึ่ง พอให้เราหาอะไรไปยึดกระจกไม่ให้ร่วงลงมา

สภาพกระจกหลังแตก

– กระจกเทมเปอร์ เวลาแตกจะร่วงลงมากองกับพื้นทันที เนื้อกระจกจะไม่เกาะตัวกันแน่น เป็นเพราะกระจกถูกนำไปอบซ้ำ ด้วยความร้อนแล้วใช้ลมเย็นเป่าให้แห้งภายในเวลาสั้นๆ ทำให้เนื้อกระจกมีความเปราะ เวลาที่โดนกระแทกแรงๆ ก็จะแตกตัว ไม่เกาะตัวรวมกัน

– กระจกเทมเปอร์ แตกเป็นเม็ดข้าวโพด แต่ก็ยังถือว่าไม่ปลอดภัย 100% เพราะเม็ดกระจกยังมีความคมอยู่

– กระจกฮีตสเตร็งเทน แตกแล้วยังเกาะตัวไม่หล่น เนื้อกระจกมีความเหนียวกว่า เนื่องจากอบด้วยความร้อนแล้วปล่อยให้กระจกเย็นลงช้าๆ ทำให้เนื้อกระจกมีความเหนียวมากกว่า เวลาที่โดนกระแทกแรงๆ จนเกิดการแตกร้าว เนื้อกระจกก็ยังจะเกาะรวมตัวกันอยู่ ไม่หล่นลงมาทันที

– กระจกฮีตสเตร็งเทน แตกเป็นปากฉลาม แต่จะเกาะตัวเป็นแผ่นเหมือนเดิม เห็นเป็นรอยร้าววิ่งเข้าหาเฟรม ทำให้เรามีเวลาหาอะไรมาแปะป้องกันไม่ให้กระจกตกมาแตกกับพื้น

credit http://www.securadoor.com/show_article/14

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น