ระบบระบายอากาศใต้หลังคา ออกแบบให้ดี ช่วยให้บ้านเย็นได้

ทุกคนคงรู้กันแล้วว่าส่วนไหนของบ้านที่รับแสงแดดและความร้อนมากที่สุด ยาวนานที่สุด?

ก็หลังคานั่นเอง เนื่องจากตำแหน่งของหลังคาเป็นตำแหน่งที่สูงสุด ไม่มีร่มเงามาบังแดด

นอกจากเก็บสะสม แล้วยังแผ่ความร้อนนั้นเข้ามาในบ้านในช่วงเวลากลางคืนอีกต่างหาก หลังคาจึงเป็นช่องทางหนึ่งที่ความร้อนสามารถผ่านเข้ามาในบ้านได้มาก และผ่านได้ง่าย

ซีรีย์บ้านเย็นจากงานเสวนาเรื่อง “ออกแบบดี เลือกวัสดุเป็น บ้านเย็นสบาย” ที่ทาง SCG Experience จัดขึ้น ผศ. ดร. อรรจน์ เศรษฐบุตร วิทยากร ก็พูดถึงเรื่องการป้องกันความร้อนจากหลังคาเอาไว้

การป้องกันปัญหาความร้อนจากหลังคาที่อาจารย์อรรจน์แนะนำให้ทำได้ตั้งแต่เริ่มก่อสร้างบ้าน คือ การออกแบบช่องลมระบายอากาศจากใต้หลังคาออกไปสู่ภายนอก เช่น ช่องลมบริเวณจั่วหลังคา หรือเพิ่มระแนงตรงชายคา ก็จะช่วยระบายความร้อนที่ลงมาจากหลังคาออก ก่อนที่ความร้อนจะแผ่เข้าไปในตัวบ้าน ความร้อนที่จะเข้าไปในตัวบ้านก็จะลดน้อยลง บ้านที่สร้างใหม่เดี๋ยวนี้ก็มักจะมีการเตรียมเรื่องการลดความร้อนจากใต้หลังคาเอาไว้ ใครที่กำลังจะซื้อบ้าน ก็อาจจะลองดูรายละเอียดเรื่องหลังคา ชายคา และการกันความร้อนจากหลังคาจากทางบริษัทดู หรือใครที่สร้างบ้านเอง ก็ควรบอกความต้องการนี้ให้กับสถาปนิกหรือผู้รับเหมาให้ทราบด้วย

นอกจากเรื่องช่องลม ระแนง วัสดุและสีของหลังคาเองก็มีส่วนในการลดความร้อนที่จะเข้ามาในตัวบ้านได้ด้วย (เราจะพูดเรื่องนี้ให้ละเอียดในบทความต่อไป) กระเบื้องหลังคาบางยี่ห้อจะมีการเคลือบสารพิเศษหรือใช้วัสดุที่สะท้อนความร้อนให้มากขึ้นและดูดซับความร้อนให้น้อยกว่าวัสดุชนิดอื่น ส่วนสีของตัวหลังคาเองก็มีผลเช่นกัน เป็นที่รู้กันว่า สีอ่อน ย่อมสะท้อนความร้อนมากกว่า และสีเข้ม จะดูดความร้อนได้มากกว่า

ส่วนบ้านที่สร้างแล้ว ถ้าจะให้ไปแก้ไขหลังคา คงจะเป็นเรื่องใหญ่โตเกินไป สิ่งที่สามารถทำได้ในหลายบ้านคือการติดตั้ง ฉนวนกันความร้อน (คลิกเพื่ออ่านบทความเกี่ยวกับ ฉนวนกันความร้อน ชนิดต่างๆ) และถ้าจะดูรายชื่อฉนวนกันความร้อนชนิดต่าง ก็เข้าไปดูได้ที่ หลังคาและฉนวนกันความร้อน

แล้วจำเป็นมั้ยต้องใส่ฉนวนที่หลังคาเสมอ?
อาจารย์อรรจน์ ให้คำแนะนำว่า “ช่องทางที่ความร้อนจากแสงแดดถ่ายเทเข้าสู่ตัวบ้านได้มากที่สุดในเวลากลางคืน คือ พื้นที่หลังคา การที่จะลดความร้อนจากหลังคาได้ก็คือ การใช้ฉนวนป้องกัน ดังนั้น ใครที่ต้องการให้ความร้อนเข้าบ้านให้น้อยที่สุด แนะนำว่า ‘ควร’ ติดตั้งฉนวนกันความร้อนเป็นอย่างยิ่ง ค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นมา จะทำให้บ้านเราอยู่สบายขึ้น พึ่งพาเครื่องปรับอากาศน้อยลง หรือช่วยลดค่าไฟมากขึ้นเพราะเครื่องปรับอากาศทำงานน้อยลง

ฉนวนกันความร้อนไม่เพียงแต่จะช่วยกั้นหรือป้องกันความร้อนที่เกิดขึ้นจากแสงแดดไม่ให้เข้าสู่บ้านทางหลังคาแล้ว ยังสามารถติดตั้งกับผนังได้ด้วย ทั้งในกรณีบ้านกำลังก่อสร้าง และบ้านที่สร้างแล้ว

การลดความร้อนจากพื้นที่ดังกล่าวด้วยการใช้ฉนวนซึ่งมีรูปแบบและการติดตั้งที่เหมาะสมกับพื้นที่ สอดคล้องกับการใช้งานจึงเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการลดการใช้พลังงานในบ้าน เช่น ถ้าเป็นการติดตั้งที่หลังคา ฉนวนให้เลือกที่ความหนาไม่น้อยกว่า 6นิ้ว ส่วนผนัง หากจะติดฉนวนเพิ่ม ก็ให้ดูทิศทางว่าผนังด้านนั้นโดนแดดมากน้อยแค่ไหน หรือติดเฉพาะด้านที่โดนแดดบ่ายก็พอ ไม่จำเป็นต้องติดผนังทุกด้านให้สิ้นเปลือง ที่สำคัญควรเลือฉนวนที่วัสดุหุ้มป้องกันความขื้นได้ด้วย ฉนวนจะได้อยู่ได้นานๆ

กันสาด กันแดด กันฝน
พูดถึงหลังคาแล้ว ก็ขอพูดไปถึงชายคาบ้านด้วยเลยแล้วกัน ถ้าสังเกตดีๆ เดี๋ยวนี้ ไม่ว่าจะเป็นบ้านโครงการ บ้านสร้างเอง ส่วนใหญ่ดีไซน์จะเอียงๆ ไปทางบ้านสไตล์โมเดิร์น ชายคาสั้น ทำให้แสงแดดและความร้อนเข้าถึงตัวบ้านได้ง่ายและเข้ามาเป็นจำนวนมาก ทางแก้ที่ทำกันก็คือ เช่น ติดผ้าม่าน ติดฟิล์มกันร้อน หรือต้องสั่งกันสาด ระแนงบังแดดมาติดตั้งเพิ่ม ซึ่งถ้าเอาค่าใช้จ่ายมาดูกันแล้ว การทำชายคาให้ยื่นออกมารับแดด ดูจะใช้สตางค์น้อยกว่าการติดกันสาดหรือทำระแนงบังแดดด้วยซ้ำไป

ซึ่งถ้าเราย้อนไปดูภูมิปัญญาการสร้างบ้านของคนไทยสมัยก่อน จะเห็นว่า กันสาดหรือชายคาบ้าน เป็นของที่อยู่คู่กับบ้านในเขตร้อนมาตลอด เนื่องจากเจ้ากันสาดหรือชายคาที่ว่านี้ ช่วยป้องกันแสงแดด (ความร้อน) ที่มาในแนวเฉียงเข้าหาตัวบ้าน ไม่ให้ตกกระทบผนังทึบ และส่องผ่านเข้าสู่ช่องหน้าต่าง ข้อดีอีกอย่างของกันสาดหรือชายคา คือ ช่วยป้องกันฝนสาดเข้ามาทางหน้าต่างด้วย

ส่วนตำแหน่งหรือทิศทางการติดกันสาดที่ให้ประสิทธิภาพมากที่สุด ให้ดูว่าด้านไหนของตัวบ้านที่โดนแดดจัด เช่น ทิศตะวันตก และทิศใต้

ขอบคุณความรู้ดีๆ ในการเตรียมบ้านรับหน้าร้อน ของ ผศ.ดร. อรรจน์ เศรษฐบุตร วิทยากรที่มาให้ความรู้ในงานเสวนา “ออกแบบดี เลือกวัสดุเป็น บ้านเย็นสบาย” ที่ทาง SCG Experience จัดขึ้นเมื่อเดือนมกราคม (2557)

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น